ลมฟ้าอากาศเป็นความเสี่ยงปกติของเกษตรกรผู้ใช้ชีวิตกลางแจ้งทั้งหลาย ไม่ว่าจะแล้งหรือหลาก เราก็ต้องปรับตัวตามเพื่อความอยู่รอด ล่าสุดหลังฝนหลงฤดูเมื่อปลายมกราพัดผ่าน ทำเอาลำไยบางส่วนแทงใบออกมาแทนดอก ... ฝนเจ้าเอยจะรู้ไหมว่า หนึ่งช่อดอกที่หาย มันหมายถึงข้าวหนึ่งอิ่มที่พี่ต้องอดเชียวนะนั่น
ปีที่แล้วความหลากหลาย เริ่มให้ผล ส้มโอ ขนุน กล้วย เหลือแจกแล้วก็ลองเร่ขายดู จีบแม้ค้าส้มตำไว้หลายครกแล้วเผื่อไว้ขายส้มโอ ลูกละห้าบาทเจ็ดบาทก็ยังได้หยิบเงินพัน เป็นการเริ่มก้าวที่ไม่ยาวนักแต่ก็ราบรื่นดี ชีพจรของสวนเริ่มเต้นเป็นจังหวะคงที่แล้วแต่ยังไม่สม่ำเสมอ หน้าฝนขายลำไย หน้าร้อนขายผักหวาน หน้าหนาวขายส้มโอ จะเห็นว่าเพราะความหลากหลายไม่เพียงพอ ทำให้วงรอบการเก็บเกี่ยวหยุดตัวเองไว้แค่ช่วงฤดูกาลเท่านั้น
ระหว่างฤดูใช่มีเพียงรายปีรายปักษ์ ยังมีวันและสัปดาห์ให้เราตักตวงอีกได้ ทำอย่างไร?
พัก นี้เลยง่วนอยู่กับงานวิจัยชาวบ้านชิ้นหนึ่ง เรื่อง 'โครงการวิจัยและพัฒนาเกษตรกรรมประณีต ๑ ไร่' ของเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและพหุภาคีภาคอีสาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว. และ สสส. เป็นการแปรแนวคิดเกษตรผสมผสานไปสู่การปฏิบัติที่ได้รับการรับรองผลอย่างถูก ต้อง มีการเก็บข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ สามารถใช้อ้างอิงได้ เพราะได้ผ่านกระบวนการวิจัยอย่างเป็นระบบ
ฉะนั้นที่ปรามาสกันว่า ระบบเกษตรยั่งยืนหรือเกษตรทางเลือกเพื่อการพึ่งตนเองในรูปแบบต่างๆ นั้นไม่มีการศึกษาวิจัยอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีความน่าเชื่อถือน้อย ขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ หรือไม่มีกระบวนการที่จะนำไปสู่หนทางแก้ไขปัญหาอย่างแท้จริง เสียงเหล่านั้นน่าจะหมดไปได้เสียที แล้วหันมาช่วยกันศึกษาต่อยอดและเผยแพร่องค์ความรู้นี้ไปสู่เกษตรกรในวงกว้าง ต่อไป
สำหรับคำจำกัดความของเกษตรประณีตนั้น ความที่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติจึงไม่สามารถนิยามได้อย่างถูกต้อง แต่คำว่า 'ประณีต' นั้นบ่งบอกความหมายได้พอสมควร ว่าให้เริ่มทำจากเล็กๆ ด้วยความใส่ใจ ผมเชื่ออยู่อย่างว่าถึงมีที่ดินเยอะก็ใช่ว่าจะอยู่รอดปลอดภัย ยิ่งมีมาก เวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ผลกระทบที่ได้รับก็จะมากตามไปด้วย ความอยู่รอดของเกษตรกรบางครั้งก็ไม่ได้แปรตามจำนวนที่ทำกินเสมอไป แต่ถ้าจะให้นิยามหยาบๆ 'เกษตรประณีต' น่าจะเป็นการย่อเอาองค์ความรู้-ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของพี่น้องเกษตรกรไทย ใส่ลงไปในผืนแผ่นดินขนาดหนึ่งไร่หรือน้อยกว่านั้น ถ้าไม่ค่อยเข้าใจ ลองคิดตามคำปราชญ์ดูสิครับ
การทำเกษตรประณีตในความคิดผม ต้องมี ๔ ขั้นตอน อย่างที่หนึ่ง ต้องกำหนดเป้าหมายโดยที่ไม่เอาเงินเป็นตัวตั้ง เอาความสุขใจเป็นตัวตั้ง เอาความมีเป็นตัววัด มีในสิ่งที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในพื้นที่ พืชผัก ไม้ผลยืนต้น ไม่ใช้สอย สัตว์เลี้ยง ฯลฯ อย่างที่สองต้องมีการรวมพลัง รวมพลังคนในบ้านและชุมชนเพื่อสร้างอาหารให้พลังแก่ตนเองและคนในแผ่นดิน อย่างที่สาม ขั้นของการตั้งมั่น คือการรู้จักตัวเอง รู้จักผู้อื่น รู้จักสิ่งแวดล้อมเพื่อเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตน อย่างที่สี่ ขั้นตั้งใจ ตั้งใจทำมาหากินเพื่อให้มีอยู่มีกิน พึ่งพาตัวเอง ค่อยๆ ลดหนี้ไป
พ่อผาย สร้อยสระกลาง
การ ทำเกษตรประณีต คือ การเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ของเกษตรกร เนื่องจากระบบการทำเกษตรที่ผ่านมานั้นมีการคิดกันเพียงหยาบ ๆ ว่า ๑ ไร่คือที่ดิน ๑,๖๐๐ ตารางเมตร ขณะเดียวกันก็ปลูกโดยไม่มีการคำนวณ และคำนึงถึงผลประโยชน์ที่จะได้มากนัก แม้แต่การคิดว่า ๑ ไร่ มี ๑,๖๐๐ ตารางเมตรยังหยาบเกินไป อาจจะต้องคิดเป็นตารางฟุต ตารางนิ้ว หรือตารางเซนติเมตรไปเลย เป็นการท้าทายให้ไม่คิดเฉพาะบนดิน แต่ใต้ดินก็สามารถปลูกพืชได้ เช่น ปลูกมันเทศไว้ในดิน เหนือดินขึ้นไป ๒ ชั้น ๓ ชั้น ก็มีต้นไม้ มีสัตว์ และถ้าเราคิดให้พื้นที่ ๑ ไร่เป็นรูปสี่เหลี่ยมที่มีเส้นรอบแปลง ๔ ด้านเท่ากับ ๑๖๐ เมตร หรือ ๑๖๐,๐๐๐ เซนติเมตร จะมีชะอมโดยรอบ ๕๐๐ ว่าต้น เก็บเกี่ยวแต่ละรอบก็เหลือกินมาก และถ้าเหลือก็ขายวันละบาท จะมีเงินวันละ ๕๐๐ บาท...นี่เฉพาะรั้ว ยังไม่นับพื้นที่ว่างในการปลูกผักผลไม้ ไม้ใช้สอย เพาะเห็ด เลี้ยงสัตว์ นานาชนิดได้อีกมาก
พ่อคำเดื่อง ภาษี
คำว่าเกษตรประณีตเราไม่ไปตี ความหมายว่าเป็นกิจกรรม แต่เป็นกระบวนการ วิธีเรียน วิธีทำ จะชัดเจนกว่า คือต่อไปคนที่อยู่ในภาคการเกษตรจะต้องทำอะไรให้มันประณีตขึ้น ดูแลเอาใจใส่ หมั่นศึกษา หมั่นทดลอง ต่อไปคำว่าเกษตรประณีตมันจะกลายเป็นวิธีเรียนวิธีทำของชาวบ้าน ซึ่งจะไปสอดคล้องกับคำว่าเศรษฐกิจพอเพียง แต่เดิมเราไปอธิบายว่าเกษตรประณีตคือการทำแปลงผัก ๑ ไร่ มันไม่ผิดหรอก แต่ว่ามันยังไม่พอ คนที่ทำอาชีพเกษตรต้องทำแบบผสมผสานหลายๆ อย่าง หมูเป็นไร ไก่เป็นไร ต้นไม้เป็นไร ผักเป็นไร ปลาเป็นอย่างไร ให้มันเห็นระบบตรงนั้น ซึ่งมันก็เป็นระบบเกษตร แต่ที่ผ่านมาเราทำทิ้งทำขว้าง ทำเยอะแต่ได้น้อย ลองมาดูแบบทำน้อยให้มันได้ดีกว่า
ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
ส่วน รายละเอียดนั้น ปรากฏเป็นขั้นเป็นตอนครบถ้วนอยู่ในเอกสารงานวิจัยแล้ว ผมทำได้เพียงแค่แนะนำเพราะเห็นว่ามีประโยชน์ อยากให้ข้อมูลชุดนี้ได้ผ่านหูผ่านตาเกษตรกรกันมากๆ ได้อ่าน ได้คิด ได้ลองทำ คลายตัวเองออกมาจากกรอบคิดเดิมๆ ที่ว่า 'การทำการเกษตรให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องใช้ที่ดินมากและเงินทุนเยอะ' ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่ความคิดที่ผิดอะไร แต่ก่อนที่จะตัดสินใจควรพิจารณาให้ดีว่า นั่นเป็นการทำเกษตรที่เกินตัวเราหรือเปล่า? แล้วเราเองมีความสามารถในการควบคุมปัจจัยต่างๆ รอบตัวที่แปรปรวนผันผวนอยู่ตลอดได้มากน้อยแค่ไหน
เริ่มที่การ 'รู้เรา' และไม่จำเป็นต้องไปรู้เขารู้ใคร เราทำเพื่อเลี้ยงตัวไม่ได้ไปสู้รบตบมือกับใครที่ไหน สิ่งสำคัญที่ต้องเอาชนะให้ได้นั่นคือใจของเราเอง ความทะยานอยากเป็นปกติของปุถุชน มีน้อยก็เจ็บน้อยอย่างที่พระท่านว่า บางทีงานวิจัยชิ้นนี้อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาของเกษตรกรท่านอื่นๆ ได้ทั้งเรื่องหนี้สิน ที่ดิน การผลิต ไปจนถึงการใช้ชีวิต มาเรียนรู้ไปด้วยกันครับ ผมเองก็กำลังชั่งใจกับรูปแบบนี้อยู่เหมือนกันเริ่มต้นให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า 'ที่ดินหนึ่งไร่จะเลี้ยงตัวได้จริงหรือ?'
เพื่อให้ได้ข้อมูลอันจะเป็น ประโยชน์กับผู้ที่สนใจมากขึ้น ผมขอเพิ่มเติมกรณีศึกษาแปลงเกษตรประณีต ๑ ไร่ ของปราชญ์ชาวบ้านทั้งสามท่านข้างต้น เป็นข้อมูลจากวารสารเกษตรกรรมธรรมชาติ ฉบับที่ ๓/๒๕๕๐ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การคิดอย่างไตร่ตรองรอบคอบและนำมาประยุกต์ใช้ให้เข้ารูปเข้ารอยกับตนเอง จากรูปธรรมของแนวคิดและวิธีปฏิบัติของเหล่าปราชญ์ชาวบ้านทั้งสามท่าน น่าจะช่วยเป็นแสงไฟส่องทางให้เกษตรกรไทย ได้ก้าวกลับไปสู่การดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นคนบนพื้น ฐานของการพึ่งพาตนเอง ท่ามกลางกระแสบริโภคนิยมงมงายเฉกเช่นปัจจุบัน
แปลนพื้นที่เกษตรประณีต ๑ ไร่ ของพ่อผาย สร้อยสระกลาง
 |
พื้นที่ ๑ ไร่ มีขนาด ๑,๖๐๐ ตารางเมตร ในพื้นที่ของพ่อผายจะแบ่งเป็นโซนด้านตะวันออกและโซนด้านตะวันตก โซนด้านตะวันออกเนื้อที่ ๘๐๐ ตารางเมตร แบ่งออกเป็น สระน้ำ ๒๐๐ ตารางเมตร, ชานสระ ๖๔ ตารางเมตร, ที่อยู่อาศัย ๖๐ ตารางเมตร, คูสระ ๔๗๖ ตารางเมตร
โซน ด้านตะวันตกเนื้อที่ ๘๐๐ ตารางเมตร แบ่งเป็น นาข้าว ๓๖๐ ตารางเมตร, คันคู ๘๐ ตารางเมตร, คอกวัว ๗๐ ตารางเมตร, คอกฟาง ๓๘ ตารางเมตร, โรงปุ๋ยชีวภาพ ๓๙ ตารางเมตร, เรือนเพาะชำ ๑๕ ตารางเมตร, ทางเดินและลานเอนกประสงค์ ๑๙๗ ตารางเมตร
ปริมาณและชนิดของผลผลิตจากที่ดิน ๑ ไร่ ของพ่อผาย สร้อยสระกลาง
สัตว์มี ๒ ชนิด น้ำหนักรวม ๓๖ กิโลกรัม
ผักมี ๓๑ ชนิด น้ำหนักรวม ๕๗๑.๒ กิโลกรัม
ผลไม้มี ๔ ชนิด น้ำหนักรวม ๓๒๑.๑ กิโลกรัม
ข้าวมี ๑ พันธุ์ น้ำหนักรวม ๑๕๐ กิโลกรัม
รวมมีพืชและสัตว์ ๓๘ ชนิด คิดเป็นน้ำหนักรวม ๑,๐๗๘.๓ กิโลกรัม
ผลผลิตที่ไม่ได้ชั่งหรือกินได้มี กล้าไม้ ๗ ชนิด จำนวน ๑๐๐ กล้า
ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการทำเกษตรประณีต ๑ ไร่ ของพ่อผาย สร้อยสระกลาง
ค่าแรงงาน ๓๘๖ ชั่วโมง คิดเป็นเงิน ๖,๙๔๘ บาท
ค่าปุ๋ย ๓,๔๒๐ กิโลกรัม คิดเป็นเงิน ๐ บาท
ค่าไฟฟ้าสูบน้ำ ๑๑๔ ชั่วโมง คิดเป็นเงิน ๓๔๒ บาท
ค่าพันธุ์พืช ๖,๖๗๗ ต้น คิดเป็นเงิน ๖๑๐ บาท
ค่าเมล็ดพันธุ์ ๑,๗๖๐ กรัม คิดเป็นเงิน ๑,๓๘๕ บาท
ค่าพันธุ์สัตว์ ๖๔๑ ตัว คิดเป็นเงิน ๗๕,๙๕๐ บาท
เครื่องจักรกล ๑๕๐ บาท
อื่นๆ ๒๐๐ บาท
ค่าใช้จ่ายทุกประเภทไม่รวมแรงงาน คิดเป็นเงิน ๗๘,๖๓๗ บาท
ค่าใช้จ่ายทุกประเภทรวมแรงงาน คิดเป็นเงิน ๘๕,๕๘๕ บาท
จำนวน ปีที่ทำเกษตรผสมผสาน ความพอเพียงของปริมาณน้ำ ชนิดและจำนวนของต้นไม้ยืนต้นที่มีอยู่ ปลุกใหม่ ตายไป และคงเหลือในแปลงเกษตรประณีต ๑ ไร่
ที่ดินเกษตรประณีต ๑ ไร่ ของพ่อผายเคยทำเกษตรผสมผสานมาแล้ว ๓ ปี
ใช้น้ำจากสระน้ำและบาดาลมีน้ำเพียงพอตลอดปี
ต้นไม้ยืนต้นที่มีอยู่เดิมมี ๓ ชนิด จำนวน ๓ ต้น
จำนวนที่ปลูกเพิ่ม ๒๗ ชนิด จำนวน ๘๒ ต้น
จำนวนที่ตายไปหรือตัดทิ้งมี ๑ ชนิด จำนวน ๑ ต้น
จำนวนคงเหลือ ๒๙ ชนิด จำนวน ๘๔ ต้น
หมายเหตุ : เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๘
สอบ ถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พ่อผาย สร้อยสระกลาง มหาวิชชาลัยภูมิปัญญาไทอีสานคืนถิ่น ๑๕๘ ม.๔ ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ โทรศัพท์ ๐๘๙-๕๘๒-๗๓๒๕
แปลนพื้นที่เกษตรประณีต ๑ ไร่ ของ พ่อคำเดื่อง ภาษี
 |
ในพื้นที่ ๑ ไร่ ของพ่อคำเดื่องจะไม่มีพื้นที่นา จะมีส่วนของแปลงผัก ไม้ผล และไม้ยืนต้น รวมทั้งมีพื้นที่สำหรับโรงเรือนเพาะชำ โดยจะไม่ได้เลี้ยงสัตว์ ในพื้นที่ ๑ ไร่ มีการปลูกไม้ยืนต้น เช่น กล้วย มะละกอ เป็นต้น มีการปลูกไม้ใช้สอย เช่น ยางนา ไผ่ สัก ประดู่ ตะเคียน เป็นต้น
ปริมาณและชนิดของผลผลิตจากที่ดิน ๑ ไร่ ของพ่อคำเดื่อง ภาษี
ไม่มีการเลี้ยงสัตว์ในสวน
ไม่มีการทำนาในสวน
ผักมี ๒๙ ชนิด คิดเป็นน้ำหนัก ๓๖๘.๖ กิโลกรัม
ผลไม้มี ๕ ชนิด คิดเป็นน้ำหนัก ๕๔๓.๓ กิโลกรัม
เห็ดมี ๑ ชนิด คิดเป็นน้ำหนัก ๕.๓ กิโลกรัม
รวมพืชทั้งหมด ๓๕ ชนิด คิดเป็นน้ำหนัก ๙๓๘.๒ กิโลกรัม
ผลผลิตที่ไม่ได้ชั่งหรือกินได้มี กล้าไม้ ๒ ชนิด จำนวน ๘ กล้า และมีไม้ไผ่ ๑๓ ลำ
ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการทำเกษตรประณีต ๑ ไร่ ของพ่อคำเดื่อง ภาษี
ค่าแรงงานจำนวน ๗๔๘ ชั่วโมง คิดเป็นเงิน ๑๓,๔๖๔ บาท
ค่าปุ๋ย ๑,๕๑๔ กิโลกรัม คิดเป็นเงิน ๐ บาท
ค่าพันธุ์พืช ๑,๒๘๘ ต้น คิดเป็นเงิน ๔๔๘ บาท
ค่าเมล็ดพันธุ์ ๑๓,๐๗๓ กรัม คิดเป็นเงิน ๗๕ บาท
ค่าพันธุ์สัตว์ ๐ ตัว คิดเป็นเงิน ๐ บาท
ค่าใช้จ่ายทุกประเภทไม่รวมแรงงาน คิดเป็นเงิน ๕๒๓ บาท
ค่าใช้จ่ายทุกประเภทรวมแรงงาน คิดเป็นเงิน ๑๓,๙๘๗ บาท
จำนวน ปีที่ทำเกษตรผสมผสาน ความพอเพียงของปริมาณน้ำ ชนิดและจำนวนของต้นไม้ยืนต้นที่มีอยู่ ปลุกใหม่ ตายไป และคงเหลือในแปลงเกษตรประณีต ๑ ไร่
ที่ดินเกษตรประณีต ๑ ไร่ ของพ่อคำเดื่องเคยทำเกษตรผสมผสานมาแล้ว ๒ ปี
ใช้น้ำจากลำห้วยกุดน้ำใส มีน้ำเพียงพอกับความต้องการตลอดปี
ต้นไม้ยืนต้นที่มีอยู่เดิม ๒๒ ชนิด จำนวน ๓๕๓ ต้น
จำนวนที่ปลูกเพิ่ม ๑๐ ชนิด จำนวน ๒๗๐ ต้น
จำนวนที่ตายไปหรือตัดทิ้งมี ๖ ชนิด จำนวน ๖๕ ต้น
จำนวนคงเหลือ ๒๗ ชนิด จำนวน ๕๕๘ ต้น
หมายเหตุ : เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๘
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ พ่อคำเดื่อง ภาษี ๔๐ ม.๘ ต.หัวฝาย กิ่ง อ.แคนดง จ.บุรีรัมย์ โทรศัพท์ ๐๘๑-๘๗๖-๕๙๐๖
แปลนพื้นที่เกษตรประณีต ๑ ไร่ ของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
 |
ในพื้นที่ ๑ ไร่ ของครูบาสุทธินันท์จะมีส่วนของผักที่ปลูกตามฤดูกาล เป็นผักอายุสั้นซึ่งมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาปลูก เช่น กระหล่ำปลี ต้นหอม ถั่วฝักยาว ผักกาด พริก เป็นต้น รอบแปลงจะปลูกไม้พุ่ม ไม้ผล ไม้เลื้อย เช่น มะละกอ แก้วมังกร น้ำเต้า ใต้โครงไม้เลื้อยหรือไม้ใหญ่ก็จะมีผักประเภทที่ไม่ต้องการแสงมากในการเจริญ เติบโต โดยรอบพื้นที่จะปลูกดอกไม้ช่วยดึงแมลงมีประโยชน์ในพื้นที่ เช่น ดาวเรือง
ปริมาณและชนิดของผลผลิตจากที่ดิน ๑ ไร่ ของครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์
สัตว์มี ๑ ชนิด คิดเป็นน้ำหนัก ๐.๕ กิโลกรัม
ผักมี ๔๐ ชนิด คิดเป็นน้ำหนัก ๑,๑๙๗.๑ กิโลกรัม
ผลไม้มี ๕ ชนิด คิดเป็นน้ำหนัก ๑,๑๗๑.๔ กิโลกรัม
รวมมีพืชและสัตว์ทั้งหมด ๔๖ ชนิด คิดเป็นน้ำหนัก ๒,๓๖๙ กิโลกรัม
ผลผลิตที่ไม่ได้ชั่งหรือกินได้มี เบี้ยมะเขือ จำนวน ๑๐๐ เบี้ย
ค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการทำเกษตรประณีต ๑ ไร่ ของครูบาสุทธินันท์
ค่าแรงงานจำนวน ๙๖๑ ชั่วโมง คิดเป็นเงิน ๑๗,๒๙๘ บาท
ค่าปุ๋ย ๕,๒๘๒ กิโลกรัม คิดเป็นเงิน ๐ บาท
ค่าไฟฟ้าสูบน้ำ ๒๘๕ ชั่วโมง คิดเป็นเงิน ๘๕๕ บาท
ค่าพันธุ์พืช ๖,๑๘๔ ต้น คิดเป็นเงิน ๓๗๐ บาท
ค่าเมล็ดพันธุ์ ๑๔,๙๑๓ กรัม คิดเป็นเงิน ๑,๒๔๕ บาท
เครื่องจักรกล ๑,๑๑๓ บาท
ค่าใช้จ่ายทุกประเภทไม่รวมแรงงาน คิดเป็นเงิน ๓,๕๘๓ บาท
ค่าใช้จ่ายทุกประเภทรวมแรงงาน คิดเป็นเงิน ๒๐,๘๘๑ บาท
จำนวน ปีที่ทำเกษตรผสมผสาน ความพอเพียงของปริมาณน้ำ ชนิดและจำนวนของต้นไม้ยืนต้นที่มีอยู่ ปลุกใหม่ ตายไป และคงเหลือในแปลงเกษตรประณีต ๑ ไร่
ที่ดินเกษตรประณีต ๑ ไร่ ของครูบาสุทธินันท์ ไม่เคยทำเกษตรผสมผสานมาเลย
ใช้น้ำจากบ่อบาดาลมีน้ำเพียงพอกับความต้องการตลอดปี
ต้นไม้ยืนต้นที่มีอยู่เดิม ๔ ชนิด จำนวน ๕ ต้น
จำนวนที่ปลูกเพิ่ม ๑๙ ชนิด จำนวน ๑๐๓ ต้น
จำนวนที่ตายไปหรือตัดทิ้งมี ๑ ชนิด จำนวน ๕ ต้น
จำนวนคงเหลือ ๒๓ ชนิด จำนวน ๑๐๓ ต้น
หมายเหตุ : เก็บข้อมูลระหว่างวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๔๗ ถึง ๓๑ ธันวาคม ๒๕๔๘
สอบ ถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ มหาวิชชาลัยอีสาน (สถาบันภูมิปัญญาท้องถิ่นอีสาน) ๓๔ บ้านปากช่อง ต.สนามชัย อ.สตึก จ.บุรีรัมย์ ๓๑๑๕๐ โทรศัพท์ ๐๔๔-๗๘๒-๓๑๓ โทรสาร ๐๔๔-๖๘๑-๒๒๐
|
Comments